ขั้นตอนการทำวิจัย (ระเบียบวิธีวิจัยที่ดี)

ขั้นตอนของระเบียบวิธีวิจัยที่ดีควรเป็นอย่างไร?
ที่มา :  กลุ่มงานฝึกอบรมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
http://research.vu.ac.th/files/Adobe/8.pdf

ขั้นตอนของระเบียบวิธีวิจัย มีรายละเอียดมาก แต่จะขอสรุปโดยย่อเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น
การเริ่มต้นเป็นนักวิจัยที่ดี ควรจะต้องศึกษารายละเอียดของการวิจัยให้เข้าใจตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนสามารถสรุป อภิปรายและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาและการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะวางภาพของการทำวิจัยทั้งหมด คือ นักวิจัยต้องเข้าใจมโนทัศน์หลัก ๆ ของการวิจัย (Research Concepts) ซึ่งประกอบด้วย

ความหมายของการวิจัย
เกณฑ์การพิจารณางานวิจัย
สภาพและความสำคัญของปัญหาและการตั้งชื่อเรื่องในการวิจัย
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
ขอบเขตการวิจัย
การทบทวนแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
กรอบแนวคิดและสมมติฐานการวิจัย
คำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย
กระบวนการวิจัย

เมื่อนักวิจัยเข้าใจมโนทัศน์ที่สำคัญของการวิจัยแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือ การลงมือทำ ในการทำวิจัยมีกระบวนการ ที่สำคัญอยู่ 10 ประการ (หลายๆ ข้อในกระบวนการ ได้อธิบายไว้แล้วในส่วนต้นของมโนทัศน์ - วช.)
กระบวนการวิจัยที่สำคัญ คือ
1.การกำหนดปัญหา การวิจัย เพื่อนำมาใช้ในตั้งชื่อเรื่อง และวัตถุประสงค์การวิจัย
2 การทบทวนวรรณกรรม และ ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
3. การวางกรอบทฤษฎีหรือ แนวคิดในการวิจัย
4. การตั้งสมมติฐาน
5. การกำหนดตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย
6. การกำหนดวิธีวัดตัวแปร
7. การออกแบบการวิจัย
8. ประชากรและการเลือกตัวอย่าง
9. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
10. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

ในส่วนของการออกแบบการวิจัยนั้น เมื่อผู้ที่จะทำการวิจัยได้เลือกหัวข้อเรื่อง กำหนดวัตถุประสงค์หรือประเด็นของการศึกษา กำหนดแนวความคิดสมมติฐานและตัวแปรต่าง ๆ (รวมทั้งวิธีการที่จะใช้วัด) แล้ว งานในขั้นต่อไปที่มีความสำคัญมากอย่างยิ่งที่จะต้องทำคือ  "การออกแบบการวิจัย"   แบบของการวิจัย เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกิจกรรมของงานวิจัยที่จะต้องทำในแต่ละขั้นตอนเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เชื่อมโยงประเด็นของการวิจัย  แนวคิดที่ใช้ในการวิจัยให้เข้ากับการวัด วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การสุ่มตัวอย่าง การดำเนินกรรมวิธีทางข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย แบบของการวิจัยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นแผนปฏิบัติการของการวิจัย การเรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบการวิจัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น

สุดท้ายของกระบวนการวิจัยคือ การสรุปผลและข้อเสนอแนะ
ในส่วนของการสรุปผล เป็นเรื่องที่ผู้วิจัยจะต้องเก็บรวบรวมประเด็นที่สำคัญทั้งหมดมาเรียบเรียงให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างย่อๆ ให้ผู้อ่านมองเห็นภาพได้ทันทีว่า งานวิจัยนั้นมีปัญหาที่สำคัญอะไร ใช้วิธีการศึกษาปัญหานั้นอย่างไร แล้วได้ผลออกมาเป็นอย่างไร
ในส่วนของการสรุปผลควรพิจารณาดูว่า รายงานวิจัยนั้นได้สรุปผลในประเด็นที่สำคัญๆ อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งอยู่ในกรอบของข้อมูลที่ค้นพบ หรืออยู่ในกรอบข้อมูลของประชากรที่ศึกษาได้ชัดเจนมากน้อยแค่ไหน ไม่ควรสรุปในรายละเอียดที่มีข้อมูลเพียงเล็กน้อย การวิจัยที่ศึกษาเฉพาะกลุ่มตัวอย่างในบางกลุ่มหรือบางพื้นที่ (case study) จะต้องระมัดระวังในการขยายผลสรุป (generalization) เกินขอบเขตของประชากรที่กำหนดเป็นกรอบไว้ และผลการวิจัยนั้นถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ซึ่งอาจเป็นจริงเฉพาะกับประชากรในเขตที่ได้รับการสุ่มมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่อาจจะไม่เป็นจริงกับประชากรทั่วไปก็ได้ ในส่วนท้ายของการประเมินการสรุปผลรายงานวิจัย ควรตรวจดูว่า มีการสรุปผลครอบคลุมวัตถุประสงค์และสมมติฐานครบทุกข้อหรือไม่ เพราะมีรายงานการวิจัยบางเรื่องสรุปผลการวิจัยไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรือตอบวัตถุประสงค์ได้ไม่ครบทุกข้อ


 - ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ กรุณาติดต่อที่ กลุ่มงานฝึกอบรมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0 2579 1370 – 9 ต่อ 479-480 หรือที่อีเมล์ jatiya_pui_pui@hotmail.com